การกำกับดูแลกิจการ
บริษัท เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ให้ความสำคัญและยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ เพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีระบบจัดการอย่างมืออาชีพ และมีความโปร่งใส โดยคำนึงถึงสิทธิเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย และเป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และมติคณะกรรมการบริษัทซึ่งสอดคล้องกับข้อพึงปฏิบัติที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณทางธุรกิจ รวมถึงแนวปฏิบัติต่างๆ ที่สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือธรรมาภิบาล ให้เป็นแนวทางสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียได้ยึดถือและปฏิบัติ เพื่อให้บริษัทฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาบริษัทให้สามารถเติบโตและสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ควบคู่ไปกับการธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรม
นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี
หมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น
บริษัทเคารพในสิทธิของผู้ถือหุ้น และมีหน้าที่ในการปกป้องดูแลและรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน บริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับสิทธิพื้นฐานต่างๆ ทั้งในฐานะนักลงทุนในหลักทรัพย์ และในฐานะเจ้าของบริษัท ด้วยวิธีการและมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ โดยให้สิทธิในการซื้อ ขาย โอน หลักทรัพย์ที่ตนถืออยู่อย่างเป็นอิสระ สิทธิในการได้รับส่วนแบ่งกำไรหรือเงินปันผลของบริษัท สิทธิในการได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ ทันเวลา เหมาะสมต่อการตัดสินใจ สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น สิทธิในการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัท สิทธิในการพิจารณาค่าตอบแทนของกรรมการบริษัท สิทธิในการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าสอบบัญชี สิทธิในการเข้าร่วมตัดสินใจและทราบถึงผลของการตัดสินใจของบริษัทที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยพื้นฐานของบริษัท สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมอย่างเป็นอิสระ ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิออกเสียงตามจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ โดยหุ้นแต่ละหุ้นมีสิทธิออกเสียงหนึ่งเสียง และไม่มีหุ้นใดมีสิทธิพิเศษที่เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ถือหุ้นรายอื่น โดยบริษัทได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
ก) เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างชัดเจน และทันต่อเหตุการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท และผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ข) บริษัทจะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นประจำทุกปี เรียกว่า “การประชุมสามัญ” หรือ การประชุมผู้ถือหุ้นคราวอื่นนอกจากนี้จะจัดขึ้นเมื่อมีความจำเป็นตามแต่กรณี โดยเรียกการประชุมนี้ว่า “การประชุมวิสามัญ”
ค) ก่อนการจัดประชุมผู้ถือหุ้น
บริษัทจะจัดส่งหนังสือเชิญประชุม ประกอบด้วยรายละเอียดระเบียบวาระการประชุม เอกสารประกอบระเบียบวาระต่างๆ พร้อมความเห็นของคณะกรรมการบริษัท และข้อมูลสำคัญอื่นๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และเปิดเผยให้นักลงทุนทราบเป็นการทั่วไปล่วงหน้าก่อนวันประชุม โดยแจ้งการเปิดเผยช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาศึกษาข้อมูลประกอบการประชุมล่วงหน้าอย่างเพียงพอ ในขณะที่บริษัทจะดำเนินการจัดส่งหนังสือเชิญประชุมพร้อมทั้งเอกสารประกอบการประชุมให้แก่ผู้ถือหุ้นล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รายละเอียดที่ปรากฏในเว็บไซต์ และในเอกสารที่จัดส่งให้ผู้ถือหุ้น เป็นข้อมูลเดียวกันซึ่งประกอบด้วย (1) หนังสือเชิญประชุม (2) ข้อปฏิบัติในการเข้าร่วมประชุม (3) ประวัติกรรมการที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่ง (4) ประวัติกรรมการอิสระที่ได้รับเสนอชื่อให้เป็นผู้รับมอบฉันทะของผู้ถือหุ้น (5) ข้อบังคับของบริษัทในหมวดเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้น (6) วาระการประชุม (7) รายงานประจำปี (8) แบบหนังสือมอบฉันทะ (9) หนังสือลงทะเบียนเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน (10) แผนที่สถานที่ประชุม นอกจากนี้บริษัทยังลงประกาศบอกกล่าวการนัดประชุมผู้ถือหุ้นทางหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 3 วันติดต่อกันล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 3 วันอีกด้วย ทั้งนี้ รายละเอียดวาระการประชุมระบุชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่จะเสนอเพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อพิจารณาแล้วแต่กรณี รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าว
ง) วันประชุมผู้ถือหุ้น
บริษัทจัดให้มีเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบเอกสารของผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมตามรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารหรือหลักฐานแสดงความเป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือเชิญประชุมเพื่อรักษาสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นสามารถลงทะเบียนเข้าประชุมล่วงหน้าได้ก่อนการประชุมอย่างเพียงพอ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้น
สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นในรูปแบบ physical meeting บริษัทได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการลงทะเบียนพร้อมทั้งจัดพิมพ์บัตรลงคะแนนในแต่ละวาระให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วย ส่งผลให้การลงทะเบียนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และถูกต้อง และสำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นในรูปแบบ electronic meeting บริษัทได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Application) ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถลงทะเบียน รับชมการถ่ายทอดสด และลงคะแนนออนไลน์ (E-Voting) แบบเรียลไทม์ได้ เพื่อให้การดำเนินการประชุมสามารถกระทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ โดยระบบดังกล่าวผ่านการประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอยู่ภายใต้พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 รวมถึงเป็นไปตามมาตรฐานการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในวาระที่ยังมิได้ลงคะแนนได้อีกด้วย สำหรับผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง และมีความประสงค์จะมอบฉันทะให้บุคคลอื่น รวมถึงผู้บริหาร หรือกรรมการของบริษัทเข้าประชุมแทนนั้น บริษัทได้เสนอชื่อกรรมการอิสระพร้อมประวัติให้ผู้ถือหุ้นพิจารณามอบฉันทะ บริษัทได้แนบหนังสือมอบฉันทะที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนเสียงได้ อีกทั้งสามารถออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้าในหนังสือลงทะเบียนเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนซึ่งนำส่งให้ผู้ถือหุ้นไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม
บริษัทจะชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นทราบหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมการประชุมผู้ถือหุ้น การออกเสียงลงคะแนน และการนับคะแนนอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มประชุม จัดให้มีการลงมติเป็นแต่ละรายการในกรณีที่วาระนั้นมีหลายรายการ และเปิดโอกาสให้ ผู้ถือหุ้นสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการเป็นรายบุคคล
บริษัทให้สิทธิผู้ถือหุ้นที่มาร่วมประชุมผู้ถือหุ้นภายหลังเริ่มการประชุมแล้วมีสิทธิออกเสียงหรือลงคะแนนในระเบียบวาระที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้ลงมติ
ในการประชุมผู้ถือหุ้น ประธานที่ประชุมจะจัดสรรเวลาที่เหมาะสมและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นและสอบถามต่อที่ประชุมตามระเบียบวาระการประชุมและเรื่องที่เสนอ บริษัทจะดำเนินการให้กรรมการ ผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งผู้สอบบัญชีเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อชี้แจงข้อซักถามอีกด้วย โดยกรรมการและผู้บริหารจะอธิบายและชี้แจงอย่างตรงประเด็นจนเป็นที่กระจ่าง
จ) หลังการประชุมผู้ถือหุ้น
บริษัทจะเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบถึงผลการลงคะแนนของแต่ละวาระการประชุมผู้ถือหุ้น ภายในวันประชุม ผู้ถือหุ้นหรืออย่างช้าภายในเวลา 9.00 น.ของวันทำการถัดไป ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
บริษัทจะจัดให้มีการทำรายงานการประชุมหลังจากเสร็จการประชุมทุกครั้ง โดยได้บันทึกจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง และมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมทั้งจำนวนรายและจำนวนหุ้น รวมทั้งสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่เข้าร่วมประชุมเทียบกับจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด มีการบันทึกประเด็นข้อซักถาม และ/หรือ ข้อเสนอแนะที่สําคัญจากผู้ถือหุ้นอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ บริษัทจะจัดให้มีการบันทึกวีดีทัศน์ภาพการประชุมเพื่อบันทึกเป็นข้อมูลสําหรับการสอบทานและอ้างอิง โดยรายงานการประชุมจะจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 14 วันนับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น และนำส่งสำเนาให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทจะเปิดเผยรายงานการประชุมบนเว็บไซต์ของบริษัท พร้อมกับแจ้งข่าวเผยแพร่ที่หน้าเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสแสดงความคิดเห็น รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมภายใน 30 วันนับจากวันที่ทำการเผยแพร่รายงานการประชุม
หมวดที่ 2 การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้าและเจ้าหนี้ คู่แข่ง พนักงานตลอดจนสาธารณชน ชุมชนและสังคมโดยรวม โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และได้กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติไว้ในคู่มือจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทมีความมั่นคงและยั่งยืน
ก) บริษัทปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกราย ทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่ไม่เป็นผู้บริหาร รวมทั้งผู้ถือหุ้นต่างชาติ อย่างเท่าเทียมกัน เป็นธรรม และเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย
ข) บริษัทมีการสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นใช้หนังสือมอบฉันทะรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนเสียงได้และมีการเสนอชื่อกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คน เป็นทางเลือกในการมอบฉันทะของผู้ถือหุ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิในการแต่งตั้งกรรมการเป็นรายคน นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้น ดังรายละเอียดซึ่งได้เปิดเผยไว้ในข้อ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น
ค) บริษัทมีมาตรการป้องกันกรณีที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้น เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) การนำข้อมูลภายในไปเปิดเผยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการและผู้บริหารซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม
ง) บริษัทจะแจ้งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นผ่านช่องทางการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยทันทีภายในวันประชุม หรือช่วงเวลาก่อนเปิดขายการซื้อขายหลักทรัพย์รอบเช้าอย่างน้อย 1 ชั่วโมงของวันทำการถัดไปเพื่อให้ นักลงทุนทราบโดยทั่วกัน และจัดทำรายงานการประชุมที่มีสาระสำคัญครบถ้วน โดยมีการบันทึกคำชี้แจงที่เป็นสาระสำคัญ คำถามและความคิดเห็นต่างๆ และมติทั้งหมดของที่ประชุมผู้ถือหุ้น แยกเป็นคะแนนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียง ซึ่งบริษัทจะเผยแพร่รายงานดังกล่าวในเว็บไซต์บริษัทและนำส่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใน 14 วันนับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น และจัดเก็บรายงานการประชุมไว้ ณ สำนักงานบริษัท
หมวดที่ 3 สิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย
บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้าและเจ้าหนี้ คู่แข่ง พนักงานตลอดจนสาธารณชน ชุมชนและสังคมโดยรวม โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และได้กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติไว้ในคู่มือจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทมีความมั่นคงและยั่งยืน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ผู้มีส่วนได้เสีย |
บทบาท และความรับผิดชอบ |
ผู้ถือหุ้น | บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ ระมัดระวัง รอบคอบ มีคุณธรรม จริยธรรม และโปร่งใส เพื่อให้บริษัทมีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน เพิ่มมูลค่าและผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น โดยบริษัทได้ทำการแต่งตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทรับผิดชอบในการรับฟังความคิดเห็น ข้อร้องเรียน หรือข้อเสนอแนะเรื่องสำคัญอื่นๆ ต่อบริษัท |
ลูกค้า | บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอแก่ลูกค้า บริการลูกค้าด้วยความสุภาพ เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อลูกค้า ผลิตงานที่มีคุณภาพ และรักษาความลับของลูกค้า และไม่นําไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ |
คู่ค้า | บริษัทมีการซื้อบริการจากคู่ค้าตามเงื่อนไขทางการค้า รวมถึงการปฏิบัติตามสัญญาต่อคู่ค้าโดยสุจริตและเป็นธรรม หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ |
เจ้าหนี้ | บริษัทมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระหนี้ตามข้อตกลงโดยเคร่งครัด รวมถึงการปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยสุจริตและเป็นธรรม หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ |
คู่แข่ง | บริษัทประพฤติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดี รักษาบรรทัดฐานข้อพึงปฏิบัติในการแข่งขัน หลีกเลี่ยงวิธีการไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสมเพื่อทำลายคู่แข่ง |
พนักงาน | บริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร ด้วยตระหนักว่าพนักงานเป็นทรัพยากรอันมีค่า และเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของบริษัท บริษัทจึงส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีนโยบายที่จะปฏิบัติกับพนักงานอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม การให้โอกาสและผลตอบแทนที่เหมาะสม การเลื่อนตำแหน่ง ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือเพศ จัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทํางานที่ดีและปลอดภัย รวมทั้งจัดให้มีกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ บริษัทได้แต่งตั้งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลรับผิดชอบในการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และเรื่องราวร้องเรียนจากพนักงาน |
สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม | บริษัทตระหนักถึงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมั่นใจได้ว่าการประกอบธุรกิจของบริษัทคํานึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยบริษัทได้จัดทําและเปิดเผยแนวปฏิบัติไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 one report) |
ทั้งนี้ บริษัทได้จัดให้มีช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีโอกาสแสดงความเห็น และติดต่อสื่อสารโดยตรงกับคณะกรรมการหรือคณะกรรมการตรวจสอบ และสามารถร้องเรียนในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของบริษัทฯ หรือพบเห็นการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายหรืออาจเข้าข่ายทุจริตหรือประพฤติมิชอบ โดยบริษัทกำกับดูแลให้มีกระบวนการและช่องทางในการแจ้งเบาะแสและเรื่องร้องเรียน ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดที่ทุจริต ฉ้อโกง หรือผิดกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ นโยบายต่างๆ และจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ผ่านทางโทรศัพท์หมายเลข 02-013-7137 หรือส่งจดหมายมายังที่อยู่ของบริษัทฯ โดยส่งถึงคณะกรรมการหรือคณะกรรมการตรวจสอบแล้วแต่กรณี โดยบริษัทมีหน่วยงานตรวจสอบภายในมีหน้าที่รับผิดชอบในการรับข้อเสนอแนะ ข้อร้องเรียน หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทและกฎระเบียบ การกำกับดูแลต่างๆ หน่วยงานนี้จะเป็นผู้คัดกรองและรายงานเรื่องที่มีความสำคัญไปยังคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาความเหมาะสม โดยคณะกรรมการตรวจสอบจะรายงานไปยังคณะกรรมการบริษัทเพื่อทราบต่อไป
หมวดที่ 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
บริษัทให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศสำคัญ ทั้งที่เป็นข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน โดยข้อมูลสารสนเทศของบริษัทฯ ต้องถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ เชื่อถือได้ และทันเวลา เพื่อให้ ผู้ถือหุ้น ผู้ที่สนใจลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ได้รับข้อมูลสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกัน ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ข้อบังคับบริษัทและหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ
ก) ความสัมพันธ์กับผู้ลงทุน
คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับนักลงทุน ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ และตระหนักดีว่าข้อมูลของบริษัททั้งที่เกี่ยวกับการเงินและที่ไม่ใช่การเงิน ล้วนมีผลต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้ที่มีส่วนได้เสียของบริษัท จึงได้กำชับให้ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วน ตรงต่อความเป็นจริง เชื่อถือได้ สม่ำเสมอ และทันเวลา ซึ่งฝ่ายบริหารของบริษัทได้ให้ความสำคัญและยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด โดยบริษัทได้จัดตั้งหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อให้บริการข้อมูลและข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทกับนักลงทุน ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ และประชาชนทั่วไป
ข) รายงานของคณะกรรมการ
คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบต่องบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อย และสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฏในรายงานประจำปี งบการเงินดังกล่าวจัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยเลือกใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสมและถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวังและประมาณการที่ดีที่สุดในการจัดทำ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
เพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และการกำกับดูแลมีความสอดคล้องกัน ตามที่สำนักงานคณะกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีผู้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน และผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชีที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยบริษัทได้นำส่งข้อมูลและเผยแพร่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้
ชื่อ – นามสกุล |
ตำแหน่ง |
ดำรงตำแหน่งเมื่อ |
นาง รัสรินทร์ โภคินจารุรัศมิ์ | ผู้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน) | 14 สิงหาคม 2567 |
นางสาว กมนต์ณัฐฐ์ แก้วสุรินทร์ | ผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชี (ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน) |
1 มิถุนายน 2563 |
โดยผู้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน และผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชี เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด
คณะกรรมการได้จัดให้มีการดำรงรักษาไว้ซึ่งระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิผล เพื่อให้มั่นใจได้อย่างมีเหตุผลว่าการบันทึกข้อมูลทางบัญชีมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สิน และเพื่อให้ทราบจุดอ่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือการดำเนินการที่ผิดปกติอย่างมีสาระสำคัญ
ทั้งนี้ บริษัทมีคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหารเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับคุณภาพของรายงานทางการเงินและระบบการควบคุมภายใน
ค) การประชุมผู้ถือหุ้น
ประธานในที่ประชุมเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท สอบถาม และแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ
ง) การประชุมคณะกรรมการ
คณะกรรมการมีกำหนดประชุมโดยปกติเป็นประจำในแต่ละไตรมาสและมีการประชุมพิเศษเพิ่มตามความจำเป็น โดยมีการกำหนดวาระชัดเจนล่วงหน้า และมีวาระพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานเป็นประจำ