การควบคุมภายใน

การคว...

การควบคุมภายใน

        บริษัท เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ให้ความสำคัญต่อระบบควบคุมภายในทั้งในระดับบริหาร และระดับปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดภาระหน้าที่ อำนาจการดำเนินการของผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน มีการควบคุมดูแลการใช้ทรัพย์สินของบริษัทให้เกิดประโยชน์ และมีการแบ่งแยกหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ติดตามควบคุมและประเมินผลออกจากกัน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างกันอย่างเหมาะสม

        โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท และสนับสนุนให้บริษัทมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้มีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย คณะกรรมการตรวจสอบมีขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานและพิจารณางบการเงิน การเปิดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงิน และรายการที่เกี่ยวโยงกันและรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาสอบทานและทบทวนระบบการควบคุมภายในร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในทุกไตรมาส และประสานงานกับผู้สอบบัญชี และฝ่ายบริหาร  ของบริษัทฯ ในการดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประเมินผลการปฏิบัติงานและผลตอบแทนของผู้ให้บริการงานตรวจสอบระบบควบคุมภายใน และการคัดเลือก เสนอแต่งตั้ง และเสนอค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย

        ในการติดตามการประเมินความพอเพียงของระบบการควบคุมภายในของบริษัท คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาตามกรอบ COSO ซึ่งครอบคลุมรายละเอียดทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ (1) การควบคุมภายในองค์กร (2) การประเมินความเสี่ยง (3) กิจกรรมการควบคุม (4) ระบบสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูล และ (5) ระบบการติดตาม และจัดให้มีการรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละครั้ง โดยมีการเปิดเผยผลการประเมินฯ ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1) และรายงานประจำปีของบริษัทฯ

        ในปีที่ผ่านๆ มา บริษัทมีการประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ พร้อมกับการกำกับดูแลอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งมีการจัดทำระเบียบการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อกำกับดูแลและกระตุ้นให้พนักงานได้รับความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนให้มีการวิเคราะห์ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่อาจมีผลกระทบต่อบริษัท เพื่อนำมากำหนดมาตรการตอบสนองต่อความเสี่ยงอย่างเหมาะสม