นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

นโยบา...

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ โปร่งใส และตรวจสอบได้ บริษัทยังตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti – Corruption Policy) ทุกรูปแบบ อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน บริษัทจึงได้มีการกำหนดนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy) เพื่อให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท และผู้เกี่ยวข้องของบริษัทได้ยึดถือและใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ

แนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท และผู้เกี่ยวข้องของบริษัท ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ ประเภท วิธีการใดๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

1. ไม่ทำพฤติกรรมใด ที่เป็นการแสดงถึงเจตนาว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน การให้หรือรับสินบน (Giving or Accepting Bribes) ทั้งที่เป็นเงิน ของขวัญ ของกำนัล ทรัพย์สิน สิ่งของ การเลี้ยงรับรอง สิทธิประโยชน์อื่น การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การปกปิดข้อเท็จจริง หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งขัดต่อศีลธรรม และจรรยาบรรณที่ดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ หรือข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง

2. ไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยถือเป็นหน้าที่ที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ

3. บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมและเผยแพร่ ให้ความรู้ความเข้าใจกับบุคคลที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท หรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัท ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน

4. บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน หรือแจ้งเบาะแสเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันให้กับบริษัท โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชัน

5. ผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับ หรือจรรยาบรรณธุรกิจ จะต้องได้รับการพิจารณาบทลงโทษทางวินัยตามกฎระเบียบของบริษัทที่กำหนดไว้ และอาจได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

6. บริษัทจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

7. บริษัทจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท และกำหนดมาตรการปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเสี่ยงนั้น

8. บริษัทจัดให้มีระเบียบกำหนดอำนาจอนุมัติในการบริหารงานที่ชัดเจน รัดกุม เหมาะสม มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้

9. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท และผู้เกี่ยวข้องของบริษัท ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังในเรื่องดังต่อไปนี้

  • 9.1 การให้ความช่วยเหลือทางการเมือง (Political Contributions)
  • 9.2 การบริจาคเพื่อการกุศล (Donation) และการให้เงินสนับสนุน (Sponsorships)
  • 9.3 ค่าของขวัญ (Gift) และค่าใช้จ่ายเลี้ยงรับรอง (Entertainment)
  • 9.4 ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการติดต่องานกับภาครัฐ

ช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

บริษัทจัดให้มีช่องทางการสื่อสารในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน หรือพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตคอร์รัปชันของคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท และผู้เกี่ยวข้องของบริษัท โดยผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนจะต้องระบุรายละเอียดของเรื่องที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนร้องเรียน พร้อมชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ ส่งมายังช่องทางการรับเรื่องตามที่บริษัทกำหนดดังนี้

  • ทางไปรษณีย์
    เรียน ประธานกรรมการบริษัท หรือ ประธานกรรมการตรวจสอบ
    บริษัท เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
    เลขที่ 145 เดอะแร็กเก็ตคลับ อาคาร 3 ชั้น 5 ห้อง 504 ซอยสุขุมวิท 49 (กลาง) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
  • ทางอีเมล์
    E-mail: contact@slm.co.th
  • ทางเว็บไซต์
    ช่องทางร้องเรียน

มาตรการคุ้มครองและรักษาความลับ

เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนที่กระทำโดยเจตนาสุจริต บริษัทจะปกปิดชื่อ ที่อยู่ หรือข้อมูลใดๆ ที่สามารถระบุตัวผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน และเก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับ โดยจะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้

ในกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของกรรมการบริษัท กรรมการตรวจสอบ หรือผู้บริหาร ให้คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งบุคคลตัวกลางขึ้น โดยกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่มีสิทธิได้รับทราบข้อมูล และจะทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนข้อเท็จจริง ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน อันตรายใดๆ หรือความไม่ชอบธรรม อันเกิดจากการแจ้งเบาะแส ร้องเรียน การเป็นพยานหรือการให้ข้อมูล

ขั้นตอนการดำเนินการสืบสวน และบทลงโทษ

เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส คณะกรรมการตรวจสอบจะมอบหมายให้ผู้ตรวจสอบภายใน หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เป็นผู้กลั่นกรองสืบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนได้ทราบเป็นระยะ

หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มี มีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชันจริง บริษัทจะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและพิสูจน์ตนเอง โดยการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำอันทุจริตตามที่ถูกกล่าวหา

หากผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตนั้นจริง ผู้กระทำการทุจริตนั้นจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัย ตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ และหากการกระทำทุจริตนั้นเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ผู้กระทำผิดนั้นอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย

 

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

การกำกับดูแลกิจการ

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

จรรยาบรรณทางธุรกิจ
ช่องทางการร้องเรียน

นโยบายต่อต้านการ
ทุจริตคอร์รัปชั่น

หนังสือสำคัญบริษัท

การพัฒนาสู่ความยั่งยืน

ผู้มีส่วนได้เสีย